top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนadmin

เคล็ดลับ: วิธีได้มาซึ่งที่นั่งชั้นพรีเมียม และชั้นธุรกิจ ในราคาตั๋วชั้นประหยัด

อัปเดตเมื่อ 4 ก.พ. 2561

ตลอดปี 2017 ผมมีโอกาสได้เดินทางไปทำข่าว และท่องเที่ยวในหลายประเทศ ประมาณเกินครึ่งที่ผมเดินทางโดยการซื้อตั๋วเอง และหลายครั้งที่เดินทางด้วยงบของบริษัท หรือสปอนเซอร์ แต่กว่า 2 ใน 3 ของทุกทริปผมได้อัพเกรตเป็นชั้นพรีเมียม หรือชั้นธุรกิจ เรามาดูกันว่าคนธรรมดาๆ มนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะได้มาซึ่งตั๋ว หรืออัพเกรตเป็นชั้นที่สูงกว่าชั้นประหยัดอย่างไรได้บ้าง โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงซื้อตั๋วราคาแพง



1) ต้องสมัครเป็นสมาชิกสะสมคะแนนสายการบิน สำคัญที่สุด คุณต้องเป็นสมาชิกสะสมคะแนนสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินที่มีพันธมิตรหลายๆ สายการบินร่วมกัน เช่น Star Alliance, Onewold หรือ Skyteam เลือกตามความเหมาะสม ว่าเราชอบเดินทางไปไหนมากกว่า เช่น ถ้าชอบเดินทางในภูมิภาคเป็นหลัก ควรเลือกสะสมคะแนนกับสายการบินที่มีเที่ยวบินในภูมิภาคมากๆ เช่น การบินไทย, สิงคโปร์แอร์ไลน์ (Star), คาเธ่ย์, มาเลเซียแอร์ไลน์ (Oneworld), เวียดนามแอร์ไลน์ (Skyteam) "ไม่แนะนำ"ให้สะสมคะแนนกับสายการบินที่อยู่ไกลเกินไป เช่นโคเรียนแอร์ (Skyteam) JAL (Oneworld) หรือ ANA (Star) เว้นแต่ว่าจะบินไปญี่ปุ่น เกาหลีบ่อยๆ เพราะยังไงถ้าจะบินญี่ปุ่นกับ ANA ก็สะสมคะแนนกับการบินไทยได้อยู่ดี หรือถ้าจะบิน JAL ก็สะสมคะแนนกับคาเธ่ย์ได้ เพราะเป็นสายการบินพันธมิตรเดียวกัน "ไม่แนะนำ"ให้สะสมคะแนนกับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carrier) เพราะสายการบินประเภทนี้สิทธิประโยชน์จะน้อยกว่าสายการบินประเภท Full Service ซึ่งจริงๆ หากมาดูกันดีๆ จะเห็นว่า ถ้า LCC บวกค่ากระเป๋า ค่าอาหาร และค่าธรรมเนียมต่างๆ ราคาแทบจะไม่แตกต่างกับราคาโปรโมชั่นของสายการบิน Full Service เลย


2) โปรแกรมสะสมคะแนนที่ได้อัพเกรตบ่อยที่สุดของผมคือ Marco Polo Club (Cathay Pacific) โปรแกรม Marco Polo Club ของคาเธ่ย์สำหรับผมถือว่าดีสุดตั้งแต่ที่เคยเป็นสมาชิกมาหลายๆ สายการบิน เนื่องจาก Marco Polo Club ให้สิทธิพิเศษตั้งแต่สถานะเริ่มต้น หรือ Green เช่นสิทธิในการเช็คอินที่เคาท์เตอร์ชั้นธุรกิจ สิทธิในการขึ้นเครื่องก่อนชั้นประหยัด และสิทธิในการอัพเกรตแบบฟรีๆ


แต่ทั้งนี้สมาชิก Green จะได้รับการอัพเกรตจะต้องอยู่ในข่ายดังต่อไปนี้คือ

- เที่ยวบินที่จะบินนั้น ชั้นประหยัด overbooked หรือผู้โดยสารเต็ม เจ้าหน้าที่ภาคพื้นจะอัพเกรตให้เราไปนั่งชั้นพรีเมียม หรือชั้นธุรกิจเลย ไม่ต้องเสียตังค์เพิ่มสักบาท - อีกวิธีที่สมาชิก Green สามารถอัพเกรตได้ในราคาไม่แพง ก็คือการยื่นประมูลราคาที่นั่งพรีเมียม (Upgrade Auction) ราคาเริ่มต้นเพียงเที่ยวละไม่กี่พันบาท แนะนำว่าวิธีนี้เหมาะกับเที่ยวบินระยะทางไกลๆ เช่นเที่ยวบินยุโรป อเมริกา หรือเกาหลี ญี่ปุ่น ถ้าเราประมูลไม่ผ่าน ก็ได้ที่นั่งเดิมที่ทำออนไลน์เช็คอินไว้ ไม่ต้องเสียตังค์อะไร ถือเป็นการเสี่ยงดวงดู Marco Polo Club มีค่ารักษาสภาพสมาชิกปีละ 100 ดอลลาร์ (USD) หรือถ้าบินปีละ 20 คะแนน (ไป-กลับ กรุงเทพ-สิงคโปร์ หรือ กรุงเทพ-ฮ่องกง ปีละ 1 รอบเท่านั้น) ก็สามารถรักษาสถานะสมาชิก Green ได้แล้ว Marco Polo Club ก็เหมือนกับ Royal Orchid Plus ของการบินไทย และสายการบินอื่นๆ นั่นก็คือ ถ้าสถานะภาพสมาชิกสูงแค่ไหน โอกาสได้อัพเกรตเป็นที่นั่งพรีเมียมแบบฟรีๆ ก็สูงเท่านั้น การได้มาซึ่งสถานะสูงๆ ก็คือต้องบินบ่อยๆ ดังนั้นอย่าเลือกบินพร่ำเพรื่อ เลือกบินกับสารการบินที่เป็นพันธมิตรกับโปรแกรมสะสมคะแนนของเราเป็นหลักเท่านั้น


3) เปรียบเทียบราคาตั๋วชั้นประหยัดกับชั้นธุรกิจว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เวลาตรวจสอบราคาตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ แนะนำให้เช็คราคาทั้งชั้นประหยัด และชั้นธุรกิจ เพราะบางครั้งเราอาจจะได้ตั๋วชั้นธุรกิจ ในราคาที่ถูกพอๆ กับชั้นประหยัด ผมจะเปรียบเทียบเคสล่าสุดที่ผมเจอคือ (ใช้ Expedia และ Traveloka เป็นหลัก) ตั๋วไป-กลับ กรุงเทพ-ฮ่องกง เดือนเมษายน 2018 ชั้นประหยัด Air Asia รวมค่ากระเป๋า และเลือกที่นั่ง = 8,XXX บาท ชั้นประหยัด Cathay Pacific (Oneworld) = 9,XXX บาท ชั้นประหยัด Thai Airways (Star) = 10,XXX บาท ชั้นธุรกิจ Hong Kong Airlines = 11,XXX บาท ชั้นธุรกิจ Emirates = 13,XXX บาท นั่นเท่ากับว่า บวกเงินเพิ่มอีกแค่พันเดียว ก็สามารถเปลี่ยนจากตั๋วชั้นประหยัดของการบินไทย มาเป็นตั๋วชั้นธุรกิจของ Hong Kong Airlines ได้แล้ว ทั้งสองสายการบินเป็นสายการบิน 4 ดาวตามการจัดอันดับของ Skytrax ดังนั้นการให้บริการจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมาก แต่แน่นอน เพียง 1 พันบาท แต่ที่นั่ง อาหาร น้ำหนักกระเป๋า และการบริการระหว่างชั้นประหยัด และชั้นธุรกิจ ต่างกันแน่นอน อีกเส้นทางที่ราคาใกล้เคียงกันอย่างชัดเจน และผมตัดสินใจจองไปแล้ว คือ กรุงเทพ-บาหลี ช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน ช่วงที่การเดินทางเข้าออกจากกรุงเทพพีคที่สุด ชั้นประหยัด Air Asia รวมค่ากระเป๋า และเลือกที่นั่ง = 10,XXX บาท ชั้นประหยัด Thai Airways (Star) = 13,XXX บาท ชั้นประหยัด Garuda Indonesia (Skyteam) = 17,XXX บาท ชั้นธุรกิจ Malaysia Airlines (Oneworld) = 12,XXX บาท ชั้นธุรกิจ Malindo Air หรือไลออนแอร์มาเลย์ = 17,XXX บาท . เคยเห็นกันไหม ตั๋วชั้นธุรกิจ ถูกกว่า ตั๋วชั้นประหยัด ปกติแล้วตั๋วชั้นธุรกิจจะแพงกว่าชั้นประหยัดประมาณเท่าตัว แต่ทั้งสองเคสนี้ คือ ตั๋วชั้นธุรกิจแพงกว่าชั้นประหยัดเพียงพันกว่าบาท กับ ตั๋วชั้นธุรกิจถูกกว่าชั้นประหยัดถึงพันกว่าบาท ดังนั้นอย่ามัวแต่เช็คราคาตั๋วชั้นประหยัดอย่างเดียว เช็คราคาชั้นธุรกิจด้วย เพราะไม่แน่คุณอาจจะได้ตั๋วที่ราคาถูกกว่า หรือแพงกว่าในราคาที่พอรับไหว


4) คะแนนบัตรเครดิต แลกเป็นตั๋วเครื่องบินดีกว่า คะแนนบัตรเครดิต โดยเฉพาะบัตร co-brand กับสายการบิน เอาไปแลกคะแนนสายการบินรัวๆ ได้เลย บัตรที่แนะนำคือ Citi กับ KTC จากนั้นให้ติดตามโปรโมชั่นสายการบิน ล่าสุดผมเอาคะแนนบัตรเครดิต KTC Bangkok Airways ไปแลกเป็นตั๋ว Premium Economy ไปกลับ กรุงเทพ-พนมเปญ ใช้คะแนนต่ำกว่าปกติถึง 75% และใช้ค่าธรรมเนียมแลกตั๋วเพียงไม่กี่พันบาท คุ้มมากๆ ตอนนี้การบินไทยมีโปรโมชั่นใช้คะแนนอัพเกรตเป็นชั้นธุรกิจภายในประเทศ เพียง 2,500 คะแนน จากปกติหมื่นกว่าคะแนน ไม่ต้องเสียตังค์ค่าอัพเกรตเพิ่มแม้แต่บาทเดียว แต่ใช้ได้เฉพาะกับเที่ยวบินของการบินไทยเท่านั้น ใช้กับไทยสไมล์ไม่ได้ ผมใช้โปรนี้ไปแล้วที่ไปเชียงใหม่ครั้งล่าสุด ถ้าคนที่ไม่ไ้ด้เดินทางไปยุโรป อเมริกาบ่อยๆ จะเอามาแลกรูทสั้นๆ แบบนี้จะดีกว่า หวังว่าเคล็ดลับเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังวางแผนการเดินทางในปีนี้ ผมมองว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิ์ของเราที่ควรรู้ เพื่อที่เราจะได้ประโยชน์สูงสุดในการเดินทาง ที่สำคัญ ถ้าเราทำเป็นประจำ มันช่วยให้การเดินทางของเราสะดวกสบายมากๆ


0 ความคิดเห็น

Comments


  • Facebook
  • Twitter
  • YouTube
  • Instagram
bottom of page